ขยับขึ้นนั่งแท่น ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) หลังสร้างผลงานโดดเด่น รวมถึงเป็นเด็กปั้นปลัดกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน สำหรับ “นายปัญญา ชูพานิช” ได้ฤกษ์เปิดตัวตำแหน่งใหม่พร้อมงัดผลดำเนินงานในปีนี้ สานต่อเมกะโปรเจกต์ ภายใต้การดูแลของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เนื่องจากสนข. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการเสนอแนะนโยบายและจัดทำแผนการขนส่งการจราจร และความปลอดภัยจากการขนส่ง อีกทั้งประสานแผนด้านการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ
ดันโปรเจคต์ TOD
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ขณะนี้ สนข.ได้ศึกษา TOD เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารรายละเอียดโครงการฯ รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์โครงการฯ เพื่อประกอบในการเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมภายใน เดือนเมษายน 2564 ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายในเดือนพฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ ให้สอดรับกับการเปิดให้บริการโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อย่างเต็มรูปแบบในช่วง พฤศจิกายน 2564 ขณะเดียวกัน สนข. ยังอยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) TOD เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ที่จะดำเนินการ และภาพรวมของโครงการก่อนส่งต่อ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ไป
“ตามที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การเดินหน้า TOD ทำเพื่อประโยชน์ของภาคเอกชน ผมยืนยันว่า ไม่ได้ทำเพื่อบริษัทเอกชน แต่เราทำเพื่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่การพัฒนานั้นๆ เพราะการจะพัฒนาพื้นที่ TOD มาจากความต้องการของคนในพื้นที่ ในส่วนว่าจะเห็นการพัฒนาพื้นที่ TOD ได้เมื่อไหร่นั้น จะต้อง พ.ร.บ. TOD มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมก่อน”
รายงานข่าวจาก สนข. ระบุว่า จากผลการศึกษาโครงการ TOD ของ สนข. ได้คัดเลือก 3 สถานี ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสร้างเมืองต้นแบบ TOD เพื่อต่อยอดผลการศึกษาให้เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว กรอบวงเงินรวมประมาณ 64,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.สถานีรถไฟขอนแก่น เป็น TOD ศูนย์กลางภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2.สถานีรถไฟอยุธยา เป็น TOD ศูนย์กลางเมืองภาคกลาง และ 3.สถานีรถไฟพัทยา เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งนี้ยังพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาเป็น TOD จำนวน 177 สถานี ตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง (ไม่นับรวมในเขตกรุงเทพฯ ที่มีความหนาแน่นแตกต่างจากสถานีของภูมิภาค)
เร่งศึกษา “แลนด์บริดจ์” เชื่อม MR-MAP
นายปัญญา เล่าอีกว่า สำหรับการศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) วงเงิน 89 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาศึกษาโครงการ 30 เดือน ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายให้กระทรวงคมนาคมสนับสนุนให้ไทยมีประตูการค้าทางใต้ทั้งการส่งออกและนำเข้าสินค้า ทางสนข.มองถึงความเป็นไปได้ของโครงการฯ และเล็งเห็นว่าพื้นที่ในจังหวัดชุมพรและระนอง มีความเหมาะสม อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังมีข้อจำกัด ในการดำเนินการกำหนดที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึก เบื้องต้น สนข.มีแผนที่จะเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 แห่งด้วยกัน รวมทั้งจะดำเนินการร่วมกับโครงการแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ทั้งกรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
“ทั้งนี้เรามีแผนจะเชื่อมท่าเรือทั้ง 2 แห่ง ผ่านระบบการขนส่งทางท่อ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางขนส่งสินค้าได้มากขึ้น เนื่องจากการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกาที่ต้องใช้ในแถบประเทศอาเซียนมีปริมาณการใช้งานสูง อีกทั้งเป็นช่องแคบมะละกาที่มีปริมาณเรือสินค้าหนาแน่น ทำให้เกิดสภาพเหมือนปากขวดและเกิดการจราจรคับคั่ง”
ดึงต่างชาติร่วมทุน PPP
ขณะเดียวกันสนข.มีโครงการจัดทำความรู้ความเข้าใจเพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนในไทย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มเจอปัญหาทางเศรษฐกิจและงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งการร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพีนั้น จะให้สิทธิเฉพาะเอกชนในไทยเพียงอย่างเดียว เบื้องต้นสนข.จะศึกษาโครงการดังกล่าวเกี่ยวกับการแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมาย รวมทั้งทบทวนปัญหาอุปสรรคของโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้รูปแบบการร่วมลงทุนพีพีพีในอนาคต
ตั้ง 2 คณะอนุกรรมการ ปลุก “ระบบตั๋วร่วม”
ปิดท้ายโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (บอร์ด) มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน 2 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะอนุ กรรมการดำเนินการศึกษาทางเทคนิคเพื่อเชื่อมต่อข้ามระบบให้แล้วเสร็จเป็นรูปธรรม 2.คณะอนุกรรมการดำเนินการศึกษาจัดทำอัตราค่าโดยสาร ซึ่งคำสั่งนี้ได้ลงนามแต่งตั้งโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563-เมษายน 2565 หากศึกษาแล้วเสร็จ
หลังจากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมต่อไป ทั้งนี้การศึกษาดังกล่าวจะครอบคลุมทั้ง 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การทำแผนบริหารจัดการตั๋วร่วม 2.การปรับโครงสร้างอัตราค่าโดยสารข้ามระบบ 3.การจัดตั้งกองทุนเพื่อดำเนินการข้ามระบบ หากต้องชดเชยรายได้ระหว่างกัน 4. การใช้ฐานข้อมูล (Data Base) ร่วมกัน และ 5.การจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วม
ที่มา : หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 – 27 มีนาคม พ.ศ. 2564