นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ครั้งที่ 2/2565 เพื่อติดตามผลการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings เมื่อวันศุกร์ที่ 22 เมษายน 2565 ณห้องประชุม 201 อาคาร สนข. โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สนข. ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการ หัวหน้าหน่วยงาน และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับฟัง ผลการพิจารณาพื้นที่ทางเลือกท่าเรือที่เหมาะสมฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร โดยคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU ตามผลการคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะเข้ามาที่ยัง Landbridge รวมทั้งยังสามารถขยายท่าเรือในอนาคตให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้าน TEU ซึ่งเทียบเท่ากับท่าเรือที่สิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึกซึ่งจะทำให้รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่พร้อมทั้งรับทราบผลการศึกษาแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และระบบราง MR8 ชุมพร – ระนอง โดยผลการศึกษาคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งระบบในระยะแรกประมาณ 400,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ได้เร่งรัดเสนอคณะทำงานบูรณาการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาในประเด็นผลกระทบกับพื้นที่มรดกโลกและพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยามฯ ได้มีข้อสั่งการให้ สนข. พิจารณาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้า และอุตสาหกรรมครบวงจร ได้แก่ เขตส่งเสริมกธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น การธนาคาร การประกันภัย (Economics & Trade Facilitator Zones : ETFZ) เขตส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิตัล (Clustering – Digital Technology Development Industry Zone : DTDZ) เขตอุตสาหกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม (Export & Value Added Zones : EVAZ) และเขตส่งเสริมการลงทุนปลอดภาษี (Free Trade Zone : FTZ) และได้เร่งรัดให้ สนข. จัดเตรียมข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอ Thai Landbridge Model ในเวทีการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (APEC Transportation Working Group : TPTWG 52) พร้อมเตรียม Road Show ทั้งในและต่างประเทศเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก